วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

บทนำ

ความเป็นมาของทฤษฎี Just-In-Time
            ในสภาพวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมาหลายบริษัททั่วโลกต่างได้รับผลกระทบที่เจ็บปวดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าวบทเรียนจากอดีตประกอบกับสภาพการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทต่างๆมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเอง ทั้งนี้ไม่แต่เพียงเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับองค์กรของตนเองเท่านั้น แต่ยังเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกสถานการณ์ หลายบริษัทต่างมุ่งหาองค์กรการผลิตที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก เพื่อจะค้นหาถึงคุณลักษณะของการดำเนินงานและการปฏิบัติงานของบริษัทที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกยุคปัจจุบัน และได้ค้นพบว่าคุณลักษณะของบริษัทดังกล่าวจะต้องสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และสามารถจะตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้าน การส่งมอบ  การออกแบบและ การเปลี่ยนแปลงขนาดรุ่นการผลิต บริษัทใดก็ตามที่สามารถทำได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้ หมายถึงว่าบริษัทดังกล่าวจะสามารถแข่งขันกับใครก็ได้  ที่ไหนก็ได้ และ สิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจก็คือทั้งคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน  และ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นต่อความมีคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำ
ระบบการผลิตที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในช่วงประมาณปี ค.ศ.1980 ที่มีกระบวนการในการปรับปรุงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตโดยการเน้นคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำ ก็คือ ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี หรือ JIT  
การผลิตแบบทันเวลาพอดี หรือที่เราเรียกสั้นๆว่าระบบการผลิตแบบ  JIT เป็นระบบการผลิตที่ได้รับ การพัฒนาและส่งเสริมโดยกลุ่มของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ในประเทศญี่ปุ่นและต่อมาได้ถูกนำไปใช้ในหลายๆบริษัทในญี่ปุ่นและแพร่หลายไปทั่วโลก  และได้ถูกเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น  บริษัท GE เรียกว่า การบริหารตามสิ่งที่มองเห็น (Management by sight) บริษัท IBM การผลิตแบบไหลต่อเนื่อง(Continuous – flow Manufacturing) บริษัท Hewlett Packard  เรียกว่า การผลิตแบบไร้สต๊อก (Stockless Production) และ การผลิตแบบซ้ำ  (Repetitive Manufacturing System) บริษัท General Motors เรียกว่าการผลิตแบบสอดคล้อง (Synchronized Production) และบริษัทในญี่ปุ่นหลายๆบริษัทเรียกว่า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System)
การผลิตแบบทันเวลา (Just In Time: JIT)
                การผลิตแบบทันเวลาพอดี เป็นระบบการผลิตสินค้าที่สนองตอบในเวลาที่พอดี ทั้งชนิดและปริมาณของสินค้า ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ผลิตสินค้าให้ทันความต้องการของลูกค้าพอดี ซึ่งจะต้องมีการปรับระบบการผลิต ให้ทุกกระบวนการผลิตได้ผลงานผลิตเสร็จทันพอดีกับกระบวนการผลิตให้มีสภาพสมดุลกันของแต่ละกระบวนการผลิต คือจัดเวลาทำงานของแต่ละกระบวนการผลิตเท่า ๆ กัน แต่ละกระบวนการผลิตจะมีการป้อนวัตถุดิบให้ทันเวลา จึงทำให้ผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานในแต่ละกระบวรการผลิตก็ต้องป้อนวัตถุดิบให้ทันเวลาตามกำหนดเช่นกัน ดังนั้นระบบนี้จึงเป็นความเกี่ยวโยงและประสานกันตั้งแต่การตลาด ผ่านสายการผลิตไปถึงผู้ผลิตวัตถุดิบ ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหาติดขัด จะไม่สามารถผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้ทันเวลาพอดี
                การผลิตแบบทันเวลาพอดีจะทำให้ไม่มีผลิตภัณฑ์เก็บสต็อกได้ในคลังสินค้า ไม่มีผลิตภัณฑ์ระหว่างกระบวนการผลิต เพราะได้ออกแบบปรับสภาพสมดุลให้ทุก ๆ จุดของกระบวนผลิตเสร็จทันเวลาที่จะส่งถึงจุดของกระบวนการผลิตต่อไปได้ทันเวลาทุกจุด จึงไม่เกิดของเหลือรออยู่ในจุดของกระบวนการผลิต เว้นแต่ว่าจะมีเหตุขัดข้องในกระบวนการผลิต ในด้านวัตถุดิบป้อนโรงงานจะไม่ต้องมีคงคลังเช่นกัน เพราะผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานก็ต้องจัดหาวัตถุดิบให้ตรงตามจำนวน ประมาณ และคุณภาพที่ดี ในเวลาที่กำหนดเช่นกัน การผลิตแบบทันเวลาพอดีเป็นเทคนิคการเพิ่มผลผลิตอีกวิธีหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการลดการเก็บวัสดุคงคลังโดยให้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่จำเป็นเข้ามาในกระบวนการผลิตในเวลาที่ต้องการ ด้วยจำนวนที่ต้องการเท่านั้น ไม่มีการเก็บไว้ในคงคลัง เพราะถ้ามีวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เกิดจากการผลิตขึ้น หรือการสั่งซื้อมีปริมาณมากเกินไปและในเวลาที่ไม่ต้องการ จะก่อให้เกิดผลเสียหายหลายประการ เช่น
                1. เป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต เพราะจากการสั่งซื้อวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนมากเกินไป โดยไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่เก็บไว้ในคลังสินค้า เป็นการนำต้นทุนไปจมไว้เฉย ๆ
                2. เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่จะต้องสิ้นเปลืองไป เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าแรงพนักงานต่าง ๆ ฯลฯ เป็นต้น
                3. เป็นการสิ้นเปลืองเนื้อที่จะต้องใช้ในการจัดเก็บ
                จากผลเสียดังกล่าวการผลิตแบบทันเวลาพอดี จึงมีวัตถุประสงค์หลัก ที่จะลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต อันเป็นวิธีการที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับองค์กรได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น